“วันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันอะไรครับ?”
ห้ามตอบว่าเป็นวันเกิดเพื่อน วันครบรอบแต่งงาน หรือวันก่อตั้งบริษัท!!!
ผมขอเฉลยก็แล้วกัน วันดังกล่าวคือวันต่อต้านโรคอ้วนสากล (Anti Obesity Day) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีขึ้นเพื่อรณรงค์เรื่องอ้วนๆ หลายคนอาจแปลกใจว่ามีวันแบบนี้ด้วยเหรอ
“อืมมมมม สรุปแล้วตอนนี้โลกของเราจะมีวันเพียงพอให้รณรงค์ได้อีกกี่โรคหละเนี่ย”
แม้โรคอ้วนจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่สูงกว่า 1.4 พันล้านราย ตามรายงานขององค์กรอนามัยโลก และในจำนวนนี้ ปีละ 3.4 ล้านราย ต้องจบชีวิตจากภาวะร่างกายสะสมไขมันมากถึงขีดอันตรายจนนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น จึงทำให้เรื่องนี้น่าวิตกไม่น้อยกว่าโรคระบาดอื่นๆ
ตัวเลขแบบนี้ทำให้ผู้บริหารเมืองใหญ่ๆทั่วโลกซึ่งมีหน้าที่ออกกฎคุมเกณฑ์ นิ่งนอนใจไม่ได้ หลายคนมองว่าที่ประชาชนมีปัญหาด้านสุขภาพ เพราะเมืองปล่อยให้มีปัจจัยเอื้ออ้วน(Obesogenic environment) มากเกินไป ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับกฎคุมเกณฑ์ให้เข้มกว่าเดิม ด้วยการ
…ควบคุมการกิน
…เพิ่มการออกกำลังกาย
ในเรื่องควบคุมการกิน มาตรการห้ามนั่น โน่น นี่ มีทุกประเทศ เราเห็นกันบ่อย
ส่วนเรื่องการออกกำลังกาย หลายเมืองใหญ่เน้นเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนได้เผาผลาญแคเลอรี่ง่ายขึ้น นอกจากสร้างสวนสาธารณะแล้ว การสร้างเลนจักรยาน(Bike lane) ก็เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมในหลายแห่ง ล่าสุดกรุงเทพก็กำลังรณรงค์เรื่องนี้ ตีเส้นระบายสีแบ่งเลนชัดชัดเจน และมีแผนจะขยายเส้นทางให้นักปั่นได้ออกแรงเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเริ่มต้นผลลัพธ์อาจน่าผิดหวัง เพราะเลนจักรยาน กลายเป็นที่จอดรถทัวร์ รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รวมไปถึงรถเข็นขายผลไม้ แต่นี่เป็นเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น คงต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ใช้ถนนทุกประเภท
แต่เรื่องนี้จะหวังพึ่งมาตรการรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ภาคธุรกิจก็มีบทบาทในเรื่องนี้ไม่น้อย ต้องไม่ลืมว่าในแต่ละวัน เวลาส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เอกชน นั่นจึงทำให้บริษัท 5+Design ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมต้านโรคอ้วน (Anti-Obesity Architecture) ซึ่งเป็นการออกแบบตึก อาคาร และสภาพแวดล้อม ที่ชี้นำให้เกิดพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ โดยผสมผสานกลุ่มอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ร้านอาหาร ย่านช้อปปิ้ง ให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้ผู้คนได้เพลินกับการเดิน แทนที่จะใช้ยานยนต์เป็นพาหนะ และเน้นการใช้แสงจากธรรมชาติ แนวคิดนี้มีเป็นรูปธรรมแล้วที่โครงการ Luxehills เมืองเฉิงตู ประเทศจีน
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วทุกบริษัทสามารถนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ แต่จะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับศิลปะในการสื่อสาร ซึ่งต้อง
…อย่าไปบอกว่า งดใช้ลิฟท์ช่วประหยัดไฟ เพราะนั่นไกลตัวไปนิด
…ต้องชี้ให้เห็นประโยชน์ตรงๆ เช่น “ขึ้นบันได จะได้หุ่นดี”
การติดป้ายแบบนี้ ได้ผลดีกว่าชัดเจน ที่นิวยอร์กมีการวิจัยเรื่องนี้และพบว่าการติดป้ายข้อความ “Burn Calories, Not Electricity” บริเวณหน้าลิฟท์ช่วยำให้ผู้คนหันมาเดินขึ้นบันไดมากขึ้น 54% จนทำให้นายกเทศมนตรี เสนอเรื่องให้มีการติดป้ายนี้และให้ทุกอาคารมีบันไดเป็นทางเลือกด้วย เพื่อให้ผู้คนในเมืองนิวยอร์กมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ดังนั้น ถ้าไปอาคารไหน แล้วมีป้ายแจ้งว่าลิฟท์เสีย อย่าเพิ่งบ่นเซ็ง
แต่ขอให้รู้ว่า เขาเป็นห่วงเรา อยากให้เผาผลาญแคลอรี่ครับ