การวัดช่วยให้เราชัดเจน

ผมเพิ่งได้ฟังเพื่อนร่วมงานที่กำลังจะเอาจริงเอาจังเรื่องวิ่ง ไอเทมแรกๆที่เขาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากรองเท้าวิ่งแล้ว ก็เป็นนาฬิกาจับเวลา
Suunto, Garmin, Fitbit, Xiaomi แต่ละยี่ห้อมีจุดดีไม่เหมือนกัน รุ่นที่ดีมีทุกฟังก์ชั่นก็แพงเกินไปสำหรับมือใหม่
ถ้าเน้นเลือกราคาก็ไม่มีฟีเจอร์วัดการเต้นหัวใจซึ่งสำคัญนะสำหรับมือใหม่

ทำไมต้องวัด?
เพื่อให้เราเทียบกับคนอื่นได้ไง ได้อวดคนอื่นเวลาวิ่งเสร็จ ตอนโพสโซเชียลว่าเพิ่งออกกำลังกายมา เท่ไม่เบาเลย
เออ อันนี้เป็นผลพลอยได้ครับ
จุดประสงค์จริงๆคือนาฬิกาทำให้เรา ‘รู้ตัวเอง’
ว่าทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลง
ทำได้ต่อเนื่องแค่ไหน

รู้ไปทำไม?
รู้ไปเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เช่น รู้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงหากวิ่งเร็วแค่ไหน การรู้ Safe zone จะทำให้เราปลอดภัย หรือรู้ว่าเมื่อวิ่งไปได้หลายเดือน จะทำเวลาได้ดีขึ้น ถ้าจะไปลงแข่งรายการมาราธอน ที่มีการ cut off เวลา จะต้องซ้อมอีกกี่เดือน เป็นต้น

ธุรกิจก็เช่นกันครับ
เราจะปรับปรุงได้ เมื่อรู้ว่า ‘เราอยู่จุดไหน’
แต่น่าเสียดายที่ธุรกิจส่วนใหญ่ ดูแค่ ‘ยอดขาย’
แต่ลืมดู ‘คนจ่ายตังค์’

การดูแค่ ‘ยอดขาย’ ตอนที่ยอดขายเยอะก็ดีใจ อยากขยายกิจการ พอยอดขายน้อยก็ไม่รู้ทำอย่างไรดี คิดไม่ออกก็ลดราคาแล้วกัน
แต่ถ้าดู ‘คนจ่ายตังค์’ พร้อมกับดู ยอดขาย ตอนที่ยอดเพิ่มเยอะ ก็รู้ว่าเพิ่มเพราะอะไร เพิ่มได้อย่างไร จะได้หาทางเพิ่มยอดไปอีก แต่หากยอดขายลดลงก็จะรู้สาเหตุ ก็พอหาทางผ่อนหนักเป็นเบา

การวัด ‘คนจ่ายตังค์’ มีหลายตัววัด แต่วิธีที่นิยมมี 3 ตัววัด เพราะวัดง่าย ช่วยให้เห็นภาพรวม แต่อาจไม่ได้ให้คำตอบในเชิงลึกซึ่งต้องใช้ตัววัดตัวอื่น (ไว้ผมจะเล่าวันหลัง)

ตัววัดแรกคือ Customer Satisfaction Score (CSAT) เป็นการวัดความพึงพอใจของลูกค้าต่อการซื้อสินค้าครั้งนั้น
คำถามที่เราคุ้นกัน เช่น
“คุณพึงพอใจต่อการใช้บริการครั้งนี้แค่ไหน?”
“วันนี้คุณพึงพอใจการให้บริการในระดับใด?”
ซึ่งมีตัวเลือกให้ระบุคะแนน อาจเป็น 1-5 หรือ 1-10
แล้วการประมวลผล ก็จะคิดเปอร์เซ็นต์ของคนที่ตอบมากที่สุด เรียกว่า Top Box หรือตอบมากที่สุดสองอันดับแรก เรียกว่า Top 2 Boxes

ตัววัดที่สองคือ Net Promoter Score (NPS) แปลเป็นไทยความหมายประมาณว่า การบอกต่อสุทธิ ตัวนี้ใช้วัดความผูกพันที่มีต่อแบรนด์ คำถามที่เรามักใช้ คือ
“คุณจะแนะนำให้คนรู้จักมาซื้อสินค้าที่ร้านของเราในระดับใด?”
(0 คือ ไม่แนะนำแน่นอน บริการแย่มาก ส่วนคะแนน 10 คือ บอกให้คนรู้จักมาซื้อของที่ร้านนี้แน่นอน)
คนที่ให้คะแนน 9 และ 10 เรียกลูกค้ากลุ่มนี้ว่า Promoters ถือว่าชื่นชอบแบรนด์นี้ จะมีการบอกต่อแนะนำเพื่อนคนรู้จักให้มาร้านนี้
คนที่ให้คะแนน 7 และ 8 เรียกว่า Passives คือเฉยๆ ไม่ได้ชอบขนาดจะบอกต่อ
ส่วนคนที่ให้คะแนน 0 ถึง 6 เรียกว่า Detractors คนกลุ่มนี้ไม่พอใจแน่นอน บางคนยังซื้อเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

โดยค่า NPS คือเปอร์เซ็นต์ Promoters ลบด้วยเปอร์เซ็นต์ Detractors
ดังนั้นค่า NPS บางแบรนด์จึงติดลบได้ เพราะคนบอกต่อมีน้อยกว่าคนไม่ชอบ

ตัววัดที่สามคือ Customer Effort Score (CES) เป็นการวัดความสะดวกในการใช้บริการหรือซื้อสินค้า
แนวคิดคล้าย NPS แต่เน้นการถามไปที่เรื่องการบริการโดยเฉพาะ ในเมืองไทยนิยมใช้ในวงการ Call Center
คำถามจะประมาณว่า “วันนี้ปัญหาของคุณได้รับการดำเนินการให้โดยง่ายหรือไม่?”
“วันนี้บริษัทได้แก้ปัญหาให้คุณโดยง่ายหรือไม่?”
ในตัวเลือกมีทั้งแบบ 3, 5, 7 และ 10 สเกล
แบบ 3 สเกล ก็คือสัญลักษณ์ หน้ายิ้ม, หน้ารีบเฉย, หน้าบึ้ง บ่งบอกอารมณ์
ส่วน 5, 7 และ 10 สเกลคือให้ระบุคะแนน คล้าย NPS
แล้วนำเปอร์เซ็นต์คนที่ตอบว่า ‘ง่าย’ ลบด้วยเปอร์เซ็นต์คนที่ตอบว่า ‘ยาก’

ทั้ง 3 ตัววัดมีจุดเด่นต่างกัน
โดยเฉพาะ NPS ที่เน้นวัด Engagement เป็นการเช็คว่า แบรนด์สุขภาพดีแค่ไหน
ส่วน CES ก็ทำให้รู้ว่า แบรนด์แก้ปัญหาได้เก่งแค่ไหน
แบรนด์ไทยส่วนใหญ่จะคุ้นกับ ‘ความพึงพอใจ’ ผมแนะนำว่าต้องลองใช้ ตัวชี้วัดอื่นบ้าง เพื่อให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง

เหมือนการเช็คสุขภาพของคนเรา ลำพังการ ‘ชั่งน้ำหนัก’ อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องดู ‘ดัชนีมวลกาย’ ด้วย

cr ภาพ: Pexels

#CustomerData #Data

การกระทำสำคัญกว่าคำพูด

เมื่อเอ่ยคำว่า การตลาด ส่วนใหญ่เรามักนึกถึงการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ลดราคา แจกสินค้าตัวอย่าง หรือทำอย่างไรก็ได้ให้คนรู้จักสินค้ารู้จักยี่ห้อ ให้เยอะที่สุด
ซึ่งก็ถูกนะครับ แต่ไม่ทั้งหมด
เพราะการตลาด จะต้องประกอบด้วย (1)ต้องทำให้คนรู้จัก และ (2)ก็ต้องทำให้ได้อย่างที่โฆษณาไว้
หลายแบรนด์มัวเน้นแต่ข้อแรก จนลืมข้อสอง

อาจเพราะข้อแรกทำง่าย แค่ใช้คนดังมาพูดแทน หรือทำอะไรแผลงๆให้คนพูดถึง แค่นี้ก็ดังชั่วข้ามคืน

การจ้างคนดัง
เดิมก็จ้างดารา มาเป็น พรีเซ็นเตอร์
พอสมัยนี้ก็เปลี่ยน ให้คนเด่นในโซเชียล มาเป็น Influencer
โดยสรุปคือ ‘จ้าง’ บุคคลที่มีคนติดตาม คน follow ก็มาช่วยพูดแทนนั่นเอง

แต่เชื่อไหมครับว่า การทำการตลาดเพียงเท่านี้มีความเสี่ยง
เสี่ยงเพราะสมัยนี้ลูกค้า ส่งต่อ ‘ประสบการณ์’ ได้เร็ว
ในขณะที่แบรนด์โฆษณาว่าสินค้าเจ๋งแบบนั้น บริการเจ๋งแบบนี้ แต่พอลูกค้าไปใช้บริการ กลับไม่เป็นอย่างที่โฆษณาไว้
ทำให้เรื่องเล็กๆ ณ จุดขาย สร้างความเสียหายให้กับแบรนด์
เข้าทำนอง “โฆษณาให้ดีแทบตาย แต่พนักงานทำไม่ได้ก็พัง”

ตรงกันข้าม มีหลายแบรนด์ที่ลูกค้าชื่นชมในโซเชียล เมื่อพนักงานสร้างความประทับใจได้เหนือความคาดหมาย
บางครั้งมีความผิดพลาด แต่ด้วยไหวพริบและความใส่ใจของพนักงาน ก็สามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้
บางครั้งไม่ต้องรอให้ผิดพลาด แต่ก็สามารถเพิ่มเสน่ห์ในการให้บริการได้ เช่น
พนักงานส่งของ กลัวกล่องสินค้าจะเปียก จึงพยายามหาไม้เพื่อดันสินค้าให้เข้าใต้ชายคา
https://www.sanook.com/news/8363626/

คูณลุง รปภ. ของห้าง ยืนซึ่งให้บริการลูกค้าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แถมยังยื่นโน๊ตรอบการแสดงระบำน้ำพุให้กับลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมาเพื่อเชิญชวนให้มาชมอีก
https://web.facebook.com/ICONSIAM/posts/1394592030721379/?_rdc=1&_rdr

และบ่อยครั้ง ที่พนักงานแสดงถึงความใส่ใจ ความเป็นพลเมืองดี อย่างเช่น เก็บทรัพย์สินมีค่าคืนให้ลูกค้า หรือการช่วยเหลือสังคม อาทิ พนักงานเซเว่นไปส่งสินค้าแล้วพบลูกค้าเกิดอาการหอบกำเริบ ก็ได้เข้าไปช่วยชีวิตให้พ้นวิกฤต https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_5009461

หรืออย่างพนักงาน ขสมก ที่หยุดรถบนทางด่วนเพื่อนำสุนัขที่เดินบนถนนกลับไปส่งเจ้าของ
https://www.posttoday.com/social/general/649320

ภาพลักษณ์แบรนด์มีความสัมพันธ์กับพนักงานอย่างมาก
การทำการตลาดผ่านพนักงานจะเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะการโฆษณาไม่ว่าจะช่องทางไหน ก็เหมือน ‘การพูด’
แต่การบริการของพนักงานที่ลูกค้าสัมผัสโดยตรง นี่เหมือน ‘การกระทำ’

และ ‘การกระทำ’ นี่แหละที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจ อยากบอกต่อ อยากซื้ออีก

cr ภาพ: pexels

ความศรัทธามีเวลาสั้นลง

ผลงานของทีมลิเวอร์พูลที่ไม่ชนะใคร 4 นัดติดต่อกัน (ก่อนจะกลับมาชนะสเปอร์สในคืนวันที่ 28 มค.) ทำให้กองเชียร์ออกอาการไม่พอใจ
บางคนถึงกับโมโหอยากให้เปลี่ยนโค้ช กะแค่ทีมไม่ชนะ 4 นัด ทั้งที่ ผจก คนนี้นำทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

ส่วนหนึ่งเพราะกองเชียร์เคยชินกับชัยชนะ และความสำเร็จ
ในทุกธุรกิจ ลูกค้าจะเป็นแบบนี้

ความเคยชินเป็นเหมือน ดาบ 2 คม
ด้านหนึ่งจะทำให้ลูกค้าติดใจแบรนด์ ยากที่จะถูกคู่แข่งแย่งไปได้
แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อลูกค้าเคยชิน ก็จะคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ถ้าแบรนด์เคยให้อะไรเป็นประจำ เมื่อยกเลิกก็จะถูกลูกค้าโวยวาย

คำพูดให้สัมภาษณ์ของ เจอเก้น คล็อป ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล
“โลกเราปัจจุบันนี้ สูญเสียความเชื่อและศรัทธาเร็วเกินไป”
เป็นข้อเตือนใจให้คนทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ในโลกธุรกิจ เราเห็นลูกค้าบ่นแบรนด์บ่อยๆในโซเชียลมีเดีย
มีทั้งแบรนด์ที่ทำพลาดจริง และมีทั้งลูกค้าคาดหวังจากแบรนด์มากขึ้น
นักวิจัยตลาดที่อยู่กับข้อมูล ดัชนีความผูกพันลูกค้า จะรู้ว่า ดัชนีนี้ ยากที่จะเพิ่มขึ้น เอาแค่ไม่ให้ลดลงก็เหนื่อยแล้ว

ลูกค้าเอาใจยากขึ้น เปลี่ยนใจเร็วกว่าเดิม เป็นมนุษย์อารมณ์
นี่คือความจริงที่คนทำธุรกิจต้องยอมรับและหาทางรับมือ

ถ้าจะหาทางออกสักทางในเรื่องนี้ คำพูดของเจเค (ชื่อย่อที่นักข่าวใช้เรียก เจอเก้น คล็อป) ก็น่าสนใจไม่น้อย
“ทุกอย่างดีเลิศได้ และทุกอย่างห่วยแตกได้ในวินาทีถัดมา การรักษาสมดุลระหว่างสองฝั่งนี้ คือเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่จะพยายาม”

ครับ! หน้าที่ของเรา ผู้ประกอบการทั้งหลาย ต้องพยายามทำทุกวันให้ดีขึ้น
คิดเพียงเท่านี้ ทำให้ได้ตามนี้ ก็เยี่ยมแล้ว

ใช้กลิ่นทำการตลาด แบบ Singapore Airline

งานวิจัยของ แอนโทนี่ ดามาซิโอ เจ้าของหนังสือ The Feeling of What Happens: Body and Emotion in the Making Consciousness บอกเราว่า มีหลายอย่างที่ทำให้อารมณ์ของเราดีขึ้น แต่ที่ส่งผลมากสุดคือ ‘กลิ่นหอม’

กลิ่นหอมช่วยทำให้อารมณ์ของคนเราดีขึ้น 75%
หลายแบรนด์จึงใช้กลิ่นมาช่วยในการสร้างประสบการณ์ลูกค้า ไม่ใช่แค่โรงแรม

ในปี 1998 สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้แนะนำน้ำหอมกลิ่นพิเศษให้เป็นที่รู้จัก
ชื่อว่า Stefan Floridian Waters

เป็นน้ำหอมที่ออกแบบเป็นการเฉพาะให้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่มีต่อสิงคโปค์แอร์ไลน์
โดยใช้เป็นน้ำหอมของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ผสมไว้กับผ้าขนหนูที่บริการก่อนขึ้นเครื่อง หรือซึมอยู่ในเครื่องบินทุกลำ

กลิ่นหอมนี้ได้จดสิทธิบัตรไว้ และก็กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของสิงคโปร์แอร์ไลน์

เป็นกลิ่นที่อธิบายยาก บ้างก็ว่าเป็นกลิ่นอ่อนๆที่อธิบายถึงความเป็นเอเชีย แต่สำหรับนักเดินทางแล้ว เมื่อได้กลิ่นแบบนี้ก็จะนึกถึงสิงคโปร์แอร์ไลน์ทันที

สิงคโปร์แอร์ไลน์มีความโดดเด่นด้านบริการ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่แยกตัวจาก มลายาแอร์เวย์ในปี 1972
พนักงานต้อนรับที่สวยโดดเด่น เกิดจากการคัดเลือกผู้สมัครหญิงอย่างเข้มข้น เพราะลูกเรือต้องมีอายุไม่เกิน 26 ปี ต้องมีรูปร่างที่สามารถสวมเครื่องแบบที่มีขนาดเดียวได้พอดี
พวกเธอต้องมีความงามเทียบได้กับนางแบบที่ปรากฎในโฆษณา พวกเธอได้รับการฝึกให้ต้องดูเป็นแบรนด์
การแต่งหน้าส่วนผสมของสีที่ใช้มีเลือกสองโทน เพื่อให้กลมกลืนกับสีของแบรนด์สิงคโปร์แอร์ไลน์

สายการบินนี้มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า แม้แต่คำประกาศของกัปตันก็มีบริษัทโฆษณาเป็นผู้เขียนบท

ความเนี๊ยบ ถูกเพิ่มด้วยการใช้กลิ่นในการสร้างแบรนด์
ยิ่งทำให้สายการบินนี้ หนีห่างคู่แข่งไปอีกขั้น

credit ภาพ: thenationalnews.com

วิกฤตกับธุรกิจ

วิกฤตเป็นของคู่กับธุรกิจ
เป็นตัวทดสอบความสามารถของผู้บริหาร

การนำพาองค์กรฝ่าวิกฤตไปได้ นอกจากองค์กรจะอยู่รอด พนักงานจะยิ่งเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำ
วิกฤตทุกครั้ง เราจึงเห็นภาวะผู้นำที่ชัดเจนกว่าภาวะปกติ
จะเรียกว่า สงครามสร้างวีรบุรุษ ก็ได้

เมื่อปี 1929 ทั่วโลกประสบปัญหาทางการเงิน ประเทศร่ำรวยอย่างญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย
ในตอนนั้น Konisuke Matsushita เพิ่งก่อตั้งบริษัท Matsushita Electric Industrial ได้ 10 ปี (ปัจจุบันคือ Panasonic)

วิกฤตในครั้งนั้นทำให้หลายบริษัทต้องเลิกจ้างงาน ผู้คนก็ตกงานจำนวนมาก
แต่สิ่งที่ Konisuke Matsushita เลือกคือ รักษาพนักงานทุกคนไว้ ไม่มีการเลิกจ้าง แถมยังจ่ายเงินเดือนเท่าเดิม โดยมีข้อแม้คือให้ทำงานที่โรงงานเพียงครึ่งวัน ส่วนอีกครึ่งวันรวมทั้งวันเสาร์เขาให้พนักงานช่วยกันนำสินค้าในสต็อกไปขาย
ของที่ขายเป็นสินค้าคุณภาพดีและเมื่อพนักงานไปขายโดยตรงก็ยิ่งขายราคาถูกได้กว่าผ่านตัวแทน

นโยบายของ Konisuke Matsushita เป็นการสร้างกำลังใจให้พนักงาน
เมื่อไม่มีความกังวล กลัวตกงานเหมือนเพื่อนที่อยู่โรงงานอื่น ก็มีสมาธิมุ่งมั่นกับงานตั้งหน้าได้เต็มที่

ทำให้ขายสินค้าได้หมดสต็อกภายใน 2 เดือน และบริษัทของเขาก็เริ่มกลับมาผลิตตามปกติได้ในเวลาไม่นาน แถมยังมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมากจนผลิตไม่ทัน

ขณะที่บางบริษัทเลือกวิธีเลิกจ้าง ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนต้องปิดกิจการ
.

ในสถานการณ์ปกติ สินค้าและบริการคือตัวตัดสินว่าธุรกิจไหนเจ๋ง
แต่ในวิกฤต พนักงานคือ ปัจจัยที่จะพาองค์กรให้รอด

อ้างอิง: หนังสือ Japan Success แปลโดย พิชชารัศมิ์ Marumura

มองเทรนด์ เห็นโอกาส