คลังเก็บป้ายกำกับ: ญี่ปุ่น

เด็กชายปฏิกรณ์

แม้ไม่ใช่คอการ์ตูนชนิดแฟนพันธุ์แท้ แต่ผมก็ชอบอ่านการ์ตูนอยู่ไม่น้อย
ทั้งการ์ตูนจริงๆ อย่างเช่น โดเรมอน อาราเล่ นินจาฮาโตริ กัปตันซึบาสะ …
และการ์ตูนแฝง

การ์ตูนแฝง คือ การ์ตูนที่นำเอาเนื้อหาวิชาการหนักๆ มาดัดแปลงเนื้อหา แล้วนำเสนอในแบบการ์ตูนครับ
ด้วยเพราะ การ์ตูน ทำให้สมองเปิดรับได้ง่ายกว่าเนื้อหาแบบวิชาการล้วนๆ
เออ.. ผมหมายถึง สมองของคนทั่วๆไปนะครับ ไม่ใช่ของบรรดาด็อกเตอร์หรือโปรเฟสเซอร์ในรั้วมหาวิทยาลัย

ดังนั้น ถ้าเอาเนื้อหาเข้มๆ มานำเสนอในรูปแบบการ์ตูน ก็จะช่วยให้น่าสนใจ น่าติดตาม และเข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม

แม้(เกือบ)ทุกชาติ จะมีการ์ตูนในเวอร์ชั่นของตนเอง แต่ถ้าบอกว่าประเทศใด ใช้การ์ตูนเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดมากที่สุด ก็ต้องยกให้ญี่ปุ่นครับ
จะบอกว่า ใช้การ์ตูนสร้างชาติ ก็คงไม่ผิดนัก
คนที่ทำงานกับชาวญี่ปุ่นคงจะรู้ซึ้งเป็นอย่างดี ทั้งเอกสารขั้นตอนการทำงานในโรงงาน ใบแปะหรือฉลากต่างๆ และเมื่อหลายเดือนก่อน ผมเคยเขียนถึงหนังสือซีรี่ย์ Project X ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของบริษัทที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จในเวอร์ชั่นการ์ตูน

การ์ตูน กลายเป็น หนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ทำให้การบอกเล่าเรื่องราว เข้าใจได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ลดความผิดพลาดได้ด้วย
ไม้เว้นแม้กระทั่งในช่วงที่บ้านเมืองประสบปัญหาภัยพิบัติ ชาวญี่ปุ่นเองและนานาชาติต่างเป็นกังวลกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ในความกังวลนี้ มีการสันนิษฐานไปต่างๆนานา ว่าจะเกิดผลร้าย

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในยามเกิดภัยพิบัติ คือ ข่าวลือ และการคาดการณ์ที่เกินจริง
การสื่อสารที่ชัดเจน ให้คนเข้าใจตรงกันในสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องยากมาก แต่ญี่ปุ่นก็ทำได้(อีกแล้ว) โดยใช้การ์ตูนเป็นสื่อ
ในชื่อชุด “เด็กชายปฏิกรณ์”

เห็นแบบนี้แล้ว รัฐบาลบางประเทศอาจคิด อยากตั้งกระทรวงการ์ตูนขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน (อ้าว กระทบคนอื่นอีกแล้ว)
แต่หามิใช่ครับ! หัวใจไม่ใช่อยู่ที่การวาด แต่อยู่ที่ “การบอกความจริง” และ “คิดข้อความที่จะนำเสนอ” ต่างหาก

ขอขอบคุณ fuyunokisetsu และผู้เกี่ยวข้อง ที่ผลิตและเผยแพร่คลิปชุดนี้ ที่ช่วยทำให้โลกรู้จักคำว่า “ง่าย”
ขอเอาใจช่วยชาวญี่ปุ่นและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสึนามิ ให้สู้ต่อไป!!!

เปิดหน้า เปิดหลัง

พูดถึง Idea สุดเจ๋ง ประดิษฐ์ของดีๆ มีคนใช้งานทั่วโลก คงนี้ไม่พ้นคนญี่ปุ่น เวลาเข้าร้านสะดวกซื้อทีไร  ต้องนึกถึงไอเดียสุดยอดของคนญี่ปุ่นทุกที อ่านเพิ่มเติม เปิดหน้า เปิดหลัง

คิดแบบญี่ปุ่น

วิธีคิดของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของญี่ปุ่น หากมีของพอเหมาะพอเจาะ ทั้งเวลาและสถานที่ ธุรกิจก็ประหยัดต้นทุน และสร้างกำไรได้อีกเยอะ

แรงผลักที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องคิดเรื่อง “ถูกที่ ถูกเวลา” ก็เพราะแผ่นดินบ้านเขามีอยู่น้อย ทุกตารางนิ้วมีราคาค่างวดทั้งนั้น จึงคิดค้นหาวิธีเรียงของให้ประหยัดต้นทุนที่สุด

การเรียงของให้ประหยัดต้นทุนที่สุด ก็คือการเรียงของให้ได้กำไรมากที่สุด (เอ้า! ก็มันแหงอยู่แล้ว แล้วจะเล่าทำไม)

คืออย่างนี้ครับ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ดังนั้นสินค้าที่จะได้ขึ้นชั้น นำเสนอตัวเองให้ลูกค้าได้เลือก จะต้องเป็นตัวเด่น ที่มั่นใจว่าลูกค้าจะซื้อ เรียกง่าย ต้องขายตัวเองได้

ฟังดูก็ธรรมดานะ แต่ที่ไม่ธรรมดา คือ การวางสินค้าขายในญี่ปุ่น มีการเปลี่ยนตัว เหมือนนักฟุตบอล เพราะในตำแหน่งเดียวกันต้องมีตัวแทน ตัวสำรอง ลงไปเล่น

ดังนั้นในร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น ตอนเช้าอาจเห็นบะหมี่เย็น  แต่พอเที่ยงในตำแหน่งเดียวกัน สินค้าที่วางขายอาจจะเป็นข้าวหน้าหมู ตกตอนเย็นอาจเป็นอุด้ง กลางคืนก็มีอีกประเภท  มีการหมุนสินค้าไปเรื่อย แต่เป็นสินค้าที่ร้านรู้ว่าลูกค้าอยากได้ อยากทานอะไร ในแต่ละมื้อ

ตอนเช้าลูกค้าออกจากบ้านไปทำงาน อาจซื้อของพอใช้ในระหว่างวัน พวกหนังสือพิมพ์ บุหรี่ น้ำดื่ม  พอตกเย็นลูกค้าจะกลับบ้าน อาจซื้อทิชชู น้ำยาล้างห้องน้ำ อาหารชุดไว้ให้ลูกตอนเช้า

ร้านก็ต้องหมุนสินค้าขึ้นชั้นให้ถูก เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ร้านไหนหมุนเก่ง ตรงใจลูกค้า ของที่ขึ้นชั้นเหลือน้อย หรือขายดีนั่นเอง ก็จะประสบความสำเร็จได้

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า “ขายของ” กับ “โค้ชฟุตบอล” จะเป็นอาชีพที่คล้ายกันมาก  ไม่แน่ว่า ซักวันหนึ่งโค้ชฟุตบอลในอังกฤษ อาจจะเป็นนักขายจากแดนอาทิตย์อุไรมาก่อน ก็ได้ ใครจะไปรู้!!!