คลังเก็บป้ายกำกับ: เซเว่นฯ

มองเซเว่นฯ เห็นแมนฯยู

“สิบกว่าปียังรอได้ ทนรออีกปีจะเป็นไรไป”

เป็นคำพูดปลอบใจของบรรดากองเชียร์ลิเวอร์พูล ที่ไม่ได้สัมผัสแชมป์มาตั้งนาน (ผมหมายถึงแชมป์ลีคสูงสุดของประเทศครับ ไม่นับฟุตบอลถ้วย ที่อาจจะมีเรื่องดวง และความฟลุคเข้ามาเกี่ยวข้อง) คำพูดนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่ ‘สิบกว่าปี’ ยังหมายถึง ‘สิบต้นๆ’ จนถึงขณะนี้กลายเป็น ‘สิบปลายๆ’ และกำลังจะกลายเป็นเลข 2 นำหน้า
จินตนาการให้ง่ายกว่านั้น ถ้าแฟนบอลคนไหนมีลูกสาว เกิดในปีที่ลิเวอร์พูลได้แชมป์ครั้งล่าสุด จนขณะนี้ลูกสาวกำลังจะรับปริญญา แต่ว่าพ่อยังไม่ได้เฮอีกเลย

นานเหลือเชื่อ!

ลำพังไม่ได้ฉลองแชมป์ แฟนๆก็เซ็งจะแย่อยู่แล้ว แต่นี่ปล่อยให้ทีมคู่อริอย่างแมนฯยูไนเต็ด กวาดแชมป์เป็นว่าเล่น จนจะทำสถิติแซงหน้า แฟนๆก็ยิ่งเซ็งยกลำลังสอง

ทำไมแมนฯยูไนเต็ด จึงประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งผลงานและผลเงิน
คำตอบง่ายๆ คือ เก่งกว่าทีมอื่น
การ ‘เก่งกว่า’ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ไม่สามารถทุ่มเงินแล้วเนรมิตได้ทันที แต่ต้องใช้เวลาสร้างนานหลายปี
นอกจากเรื่อง ‘ต้องใช้เวลา’ แล้ว ‘ต้องมีทิศทางชัดเจน’ ต้องมีภาพที่อยากจะเป็นอยู่ในใจ (ในหัว) ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบให้ผู้จัดการทีม ที่ชื่อ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ความสามารถของเขาไม่ธรรมดา การได้พระราชทานคำนำหน้าว่า ‘เซอร์’ จากราชวงศ์อังกฤษ บ่งบอกความเก่งได้เป็นอย่างดี

แมนฯยูไนเต็ดในยุคเฟอร์กูสัน คว้าถ้วยรางวัลเกินสามสิบใบ และกลายเป็นสโมสรที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก ล่าสุดนิตยสารฟอร์บจัดอันดับให้เป็นเบอร์หนึ่งของโลก มีมูลค่าเกือบสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหนือกว่าทีมเรอัล มาดริด ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมมหาเศรษฐีเพราะแต่ละปีทุ่มเงินซื้อนักเตะแบบสู้ราคาไม่อั้น

ผลงานการคว้าถ้วยรางวัลมากมาย ทำให้ผมนึกถึงร้านเซเว่นฯ เดินไปที่ไหนก็เจอ เผลอๆมี 2-3 ร้านหน้าปากซอยเดียวกัน
ร้านมีเยอะ ทำให้ลูกค้าซื้อของได้สะดวกขึ้น
แต่กว่าเซเว่นฯ จะมีวันนี้ เปิดได้ปีละ 400 กว่าร้าน ก็ต้องผ่านอุปสรรคมาเยอะ เช่นเดียวกับแมนฯยูไนเต็ด กว่าจะมีวันนี้ที่สามารถปล่อยนักเตะเก่า ซื้อนักเตะใหม่ ทีมก็ยังสมดุล ลุ้นแชมป์ทุกปี ก็ต้องใช้เวลาสร้างระบบ

หลายคนอาจคิดว่านักเตะคนไหน ย้ายไปเล่นให้แมนฯยูไนเต็ดก็ดังกันหมด แล้วยังคิดต่อไปว่า นักเตะดังๆที่ย้ายไปดับกับทีมหงส์แดง ถ้าเล่นให้แมนฯยูไนเต็ด ก็รุ่งไปแล้ว
สรุปแบบนั้นไม่ถูกครับ
ผมไม่คิดว่า นักเตะทุกคนจะรุ่งหากเล่นให้แมนฯยูไนเต็ด แต่เป็นเพราะทีมนี้ ‘เลือกเก่ง’ จึงได้นักเตะที่เข้ากับระบบทีม แต่ก็ไม่ทั้งหมดครับ มีเล็งพลาดบ้างเหมือนกัน
ดีเอโก้ ฟอร์ลัน คือตัวอย่างที่พอคุ้นหู แต่ก็มีนักเตะอีกจำนวนหนึ่งที่น้อยคนนักจะจำได้ มีใครรู้จัก โจนาธาน สเป็คเตอร์บ้าง อดีตดาวรุ่งสหรัฐ ที่มีโอกาสสวมชุดแมนฯยูไนเต็ดเพียงไม่กี่ครั้ง ก่อนจะย้ายไปเป็นกำลังหลักของทีมเวสต์แฮมในขณะนี้

เซเว่นฯ ก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกสินค้าที่วางขาย จะขายดีเสมอไป แต่เป็นเพราะร้านแห่งนี้ ‘มองทะลุ’ จึงได้ ‘สินค้าที่เหมาะกับร้าน’
รู้ว่าตัวไหนมีโอกาสขาย มีโอกาสรุ่ง จึงจะเลือกเข้ามา
แต่บางสินค้าที่ไม่เลือก ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่ดี’ แต่เป็นเพราะ ‘ไม่เหมาะ’
ร้านขนาดเล็กไม่กี่ตารางวา กับพฤติกรรมลูกค้าที่มาไวไปไว มีไว้สำหรับสินค้ารูปแบบหนึ่งเท่านั้น

“แบบนี้ถ้าผมผลิตสินค้าไปเสนอ แล้วเซเว่นฯซื้อ ก็จะรวยหละสิ”
ยังครับ ขั้นตอนยังไม่จบ
เมื่อผ่านการคัดเลือก แปลว่าได้ขึ้นชั้นวางขาย แต่ไม่ได้การันตีว่าจะขายดีเสมอไป
เหมือนนักฟุตบอล การได้เซ็นสัญญากับแมนฯยูไนเต็ด เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น นักเตะต้องฝึกอีกเยอะ แม้จะมีโอกาสได้ลงเล่น ก็ห้ามเหลิง เพราะมีนักเตะเด็กๆพัฒนาฝีเท้าตลอดเวลา รอเสียบแทนทุกเมื่อ
สินค้าบนเชลฟ์ในร้านเซเว่นฯก็เช่นกัน ต้องขยันทำให้ตัวเองเก่ง ต้องปรับให้ทัน อาจต้องเปลี่ยนแพ็กเกจ เปลี่ยนรสชาติ หรือจัดรายการส่งเสริมการขาย จึงจะได้ลงเล่นตัวจริงต่อเนื่อง

ลำพังนักเตะเก่ง อาจช่วยทำให้ได้แชมป์ แต่ถ้าจะประสบความสำเร็จยาวๆ ได้แชมป์ต่อเนื่อง ต้องสร้าง ‘สไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์’
‘เป็นเอกลักษณ์’ ไม่ใช่แค่แตกต่างจากทีมอื่น แต่ต้องมีประสิทธิภาพด้วย

สไตล์ของแมนฯยูไนเต็ด คือจะเปลี่ยนจังหวะบอลได้เก่ง มีการเคาะบอลไปมาอย่างแม่นยำ แต่เวลาจะเข้าทำก็เปลี่ยนเป็นเกมเร็วทันที ลูกบอลจะเดินทางเร็วมุ่งสู่เขตประตูคู่แข่งภายในเวลาไม่กี่วินาที เหมือนเสือกระโดดพุ่งเข้าหาเหยื่อ
สไตล์เซเว่นฯก็เน้นส่งสินค้าไปให้ใกล้ลูกค้าได้เร็วกว่าคู่แข่ง

‘ลูกบอลเดินทางเร็ว’ ของแมนฯยู เกิดจากวิธีการเล่นที่หลากหลาย
มีทั้งโยนบอลไกล จากระยะกลางสนาม
มีทั้งเปิดบอลเร็วจากผู้รักษาประตู โดดเด่นมากในยุคที่มีนายทวารชื่อ ปีเตอร์ ชไมเคิล
มีทั้งจรวดทางเรียบ ใช้นักเตะความเร็วสูง ไปกับบอลได้ดี

แมนฯยูไนเต็ด ยังรักษาสไตล์การเล่นนี้ โดยหาผู้รายใหม่ที่เข้ากับรูปแบบการเล่น ตำแหน่งผู้รักษาประตู พอหมดยุค ปีเตอร์ ชไมเคิล ก็มี ฟาร์เบียง บากซ์เตส และ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ซาร์ ที่ฝีมือไม่ด้อยกว่ากัน
กองกลางฝีเท้าเจ๋ง ก็มีไบรอัน ร็อบสัน กัปตันทีมที่อยู่ในตำแหน่งนานถึง 12 ปี เดวิด เบคแฮม ที่สร้างสถิติยิงประตูลักไก่จากครึ่งสนาม และ พอล สโคล จอมทัพที่ชอบยิงไกล
จรวดทางเรียบ มีทั้ง อังเดร แคนเชลสกี้ ปีกยูเครน, ไรอัน กิ๊กส์ ปีกเวลล์, คริสเตียโน โรนัลโด้ และ นานี จากโปรตุเกส

‘สินค้าเดินทางเร็ว’ ของเซเว่นฯ คือความหมายอีกด้าน ของคำว่า ‘สะดวกซื้อ’
สะดวกซื้อนี้มีรูปแบบแตกต่างไปตามยุคสมัย
‘สะดวกเวลา’ เปิด 24 ชม ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้น เป็นความหมายเมื่อตอนเปิดร้านแรกในปี 2532
‘สะดวกเดินทาง’ การขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เป็นความหมายเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
‘สะดวกหาของใช้’ มีสินค้าหลากหลายและไม่ต้องเหมือนกันทุกแห่ง ร้านใกล้โรงเรียนอาจมีสินค้าบางอย่างต่างจากร้านใกล้โรงพยาบาล เป็นความหมายที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
‘สะดวกหาของกิน’ หรือที่เรียกว่า ร้านอิ่มสะดวก เป็นความหมายล่าสุด ที่โดนใจคนรุ่นใหม่ ทำงานแข่งเวลา

26 ปีในการคุมทีมปีศาจแดง ของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ใช้สไตล์เดิม แค่เปลี่ยนนักเตะ
23 ปีของร้านเซเว่นฯในเมืองไทย ยังใช้แนวคิดเดิม แค่เปลี่ยนสินค้า

แจกของฟรี แบบมีคลาส


‘อยู่บ้านมากขึ้น ไม่ค่อยออกไปช้อปปิ้ง’
‘รองานแฟร์ รอของลดราคา’
‘มีตำหนินิดหน่อยก็เอา ถ้าราคาถูกจริง’

พฤติกรรมแบบนี้แหละ ที่ทำให้ผู้ค้าขายเหนื่อยไปตามๆกัน
“ทำอย่างไร ลูกค้าจึงจะมาเขาร้านเรา?”
คำถามนี้ นับวันยิ่งหาคำตอบยากขึ้นเรื่อยๆ

กระบวนท่าพื้นๆที่ใช้กัน อาทิ โฆษณาทางทีวี ติดคัทเอาท์ใหญ่ๆว่าลดกระหน่ำ หรือแจกใบปลิวถึงประตูบ้าน
นับวันก็ได้ผลน้อยลง
งั้นลองใช้วิธีนี้ดู เผื่อว่า ‘เกลือตัวแม่’ จะเปลี่ยนใจ

ก็เอาของฟรีมาล่อยังไงละครับ!!! แต่จะแจกคูปองฟรี ก็ดูธรรมดาไป ต้องหาลูกเล่นที่มากกว่านั้น และที่สำคัญลูกเล่นที่ว่านี้ ต้องตรงกับพฤติกรรมของลูกค้าด้วย

ไอเดียนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อเซเว่นฯสวีเดนจับมือกับไอโฟน พัฒนาแอพพลิเคชั่น ระบุแผนที่ตั้งร้านเซเว่นฯ โดยเปิดให้ดาวน์โหลตได้ฟรี
แคมเปญเริ่มจาก หลังติดตั้งแอพฯ ก็จะมีแผนที่บอกระยะทางไปร้านเซเว่นฯที่อยู่ใกล้สุด 2-3 ร้าน เพื่อให้ลูกค้าไปรับ กาแฟฟรีๆ 1 แก้ว

ได้แอพฯฟรี มีกาแฟให้กินอีกด้วย มีหรือที่จะพลาด!!!
ว่าแล้วจำนวนคนดาวน์โหลดก็ทะลุ 2,500 ครั้งภายในอาทิตย์เดียว และดันแอพฯนี้ ให้ติดท็อปเทนของชุมชนไอโฟนในทันที

แม้ 1 คน จะมีโอกาสเพียงครั้งเดียว
แต่เซเว่นฯ ก็เตรียมออกแคมเปญในเดือนถัดไป
จากที่แจกกาแฟในเดือนเมษา เดือนพฤษภา จะเป็นคิวของ ‘ไอศกรีม'(และเดาว่า น่าจะมีแจกไปเรื่อยๆเดือนละรายการ ชิ้นต่อไปน่าจะเป็นใส้กรอก, ซาลาเปา เออ…ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่สวีเดน เขาขายซาลาเปาหรือเปล่า? ถ้าไม่มีก็เปลี่ยนเป็น ถุงยาง หรือเรดบลูก็น่าจะได้

แคมเปญนี้ win-win ทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า ทั้งไอโฟนและเซเว่นฯ
แน่นอนว่าลูกค้าที่เขาร้าน บางคนตั้งใจมากินฟรี แต่เอาเข้าจริงก็เผลอซื้ออย่างอื่นติดมือไปด้วย
เป็นกลยุทธ์(แอบ)ขายพ่วง ที่ลูกค้าไม่ทันตั้งตัว

แต่ที่มากกว่านั้น ร้านค้าจะรู้ว่าลูกค้าชอบซื้ออะไรคู่กับอะไร และลูกค้าคนนั้นเป็นใคร
ขั้นต่อไป ก็ส่งโปรโมชั่นผ่าน SMS ไปถึงตัวได้เลย

ภาพจาก http://www.signar.se
[ad#blend-336×280]

กำเนิด 7-Eleven : ภาคแรก "Seven the Begin"

หากจะเล่าประวัติของเซเว่นฯ คงต้องแบ่งเป็น 2 ภาค เหมือนหนัง  จึงจะจบสมบูรณ์ งั้นขอสวมวิญญาณฉีเคอะ เขียนบทเรื่องนี้ซะหน่อย  ภาคแรกผมให้ชื่อว่า “Seven The Begin” หรือ กำเนิดเซเว่นฯ พระเอก คือ พี่เบิ้มเมืองมะกัน ส่วนภาคสองให้ชื่อตอนว่า “Grandiose Seven” หรือ เซเว่นฯผู้ยิ่งใหญ่ พระเอกในตอนนี้คือ พี่ยุ่น

วันนี้ผมขอฉายภาคแรกก่อนครับ
เหตุการณ์ในปี 1927 (2470) ณ ร้านขายน้ำแข็ง เมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา บริษัท Southland Ice ที่ทำกิจการขายน้ำแข็งก้อนให้ห้องเย็น และร้านอาหารต่าง ได้เริ่มนำสินค้าอื่นๆที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประเภทนม ขนมปัง และไข่ มาขายเพิ่ม เพื่อบริการลูกค้าในละแวกนั้น ในช่วงเย็นของทุกวัน และในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาที่ร้านรวงอื่นๆ เขาปิดร้านกันหมดแล้ว ทำให้ลูกค้าพอใจอย่างมาก และยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แหละนั่น คือจุดกำเนิดของร้านสะดวกซื้อ

บริษัทเห็นโอกาสอันงามนี้ จึงเปิดร้านที่ชื่อว่า Tote’m Store  โดยมีเสาสลักของชาวอาลัสกา หรือ Totem เป็นเครื่องหมาย ในปี 1928 เริ่มขายน้ำมันเชื้อเพลิง
ต่อมาในปี 1946 (2489) ได้เปลี่ยนชื่อร้านเป็น Seven-Eleven เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาที่เปิดให้บริการมากขึ้น เป็น 7 โมงเช้า ถึง 5 ทุ่ม ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์

ในปี 1946 ออกโฆษณาชิ้นแรกทางโทรทัศน์ ชื่อชุด “Owl & Rooster” ปี 1952 มีร้าน 100 สาขา
จากนั้นเริ่มออกนอก Texas โดยมุ่งหน้าสู่ Florida เมื่อปี 1954
อีก 4 ปีให้หลัง ร้านติดแอร์แห่งแรก ก็เกิดขึ้นที่ Virginia

1960 ครบ 500 สาขา อย่ารวดเร็ว และ 3 ปีต่อมาก็ครบ 1,000 ร้าน พร้อมกับซื้อกิจการของ “Speedee Mart” ใน Califonia และเริ่มใช้ระบบร้านแฟรนไชส์ แต่นั้นมา พร้อมเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

6 ปีต่อมา มีสินค้ายี่ห้อของตนเอง และดังไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ Slurpee จากนั้นเริ่มขยายสาขาไปทั่วโลก ด้วยการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ เริ่มจากเปิดสาขาในแคนาดาในปี 1969 
ปี 1971 ทำยอดขายทะลุ 1,000 ล้านเหรียญต่อปี และในปีเดียวกันได้เข้าไปเปิดร้านในเม็กซิโก อังกฤษ และสก็อตแลนด์

1974 บริษัทลูกของ ITOYOKADO ยักษ์ค้าปลีกในญี่ปุ่น ได้ตกลงซื้อแฟรนไชส์ หลังจากเดินทางมาศึกษารูปแบบร้านค้าใหสหรัฐเป็นเวลาหลายเดือน
นับแต่นั้นการขยายสาขาไปทั่วโลก ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 1977 เจาะตลาดออสเตรเลีย, 1980 เปิดที่ไต้หวัน และในปีนี้มีร้านนอกตลาดสหรัฐ ครบ 1,000 แห่ง อีกปีต่อมา บุกฮ่องกง จากนั้นในปี 1983 ลุยสิงคโปร์

ปี 1984 เข้ามาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พร้อมเปิดตัวสินค้าใหม่ Super Big Gulp พร้อมเพิ่มบริการตู้ ATM 
ลุยตลาดยุโรปที่นอร์เวย์ในปี 1986 เปิดสาขาแรกในไทยที่หัวถนนพัฒน์พงษ์โดยบริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ในปี 1988 และในปีเดียวกันก็เปิดตัวสินค้าใหม่ชื่อ Oscar Mayer Big Bite

การเดินทางของเซเว่นฯ เริ่มสะดุดจากปัญหาด้านการเงิน ทำให้ The Southland Corporation ได้ขายหุ้นบางส่วนให้กับ Seven Eleven Japan ในปี 1991  
ผลพวงของการเข้ามาถือหุ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อจาก The Southland Corporation เป็น 7-Eleven, Inc.

ตอนนี้พระอาทิตย์อยู่ที่ทวีปเอเชียแล้ว การขยายสาขาในญีปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในปี 2000 เซเว่นฯฉลองสาขาที่ 20,000

ในฝั่งสหรัฐเอง พยายามเพิ่มบริการใหม่ๆ โดยมีเครื่อง Vcom เพื่อให้บริการทางการเงินผ่านตู้อัจฉริยะ ในรัฐ Texas และ Floroda ปี 2002 ทำรายได้ทะลุ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปี 2003 ให้บริการ Value Card ในชื่อ 7-Eleven Convenience Card
ในปี 2004 ซึ่งได้มีการเข้าไปทำตลาดในจีนที่กรุงปักกิ่ง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการทบทวนข้อตกลงแฟรนไชส์ทั้งหมด และได้ขายตึกสำนักงานใหญ่ 

จากนั้นการเดินทางของ Seven Eleven ก็ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อผลประกอบการในสหรัฐเริ่มไม่ดีนัก การขยายสาขาก็ทำได้ลำบาก  สภาพคล่องทางการเงินก็มีปัญหามาตั้งแต่เริ่มขายหุ้นบางส่วนให้กับญี่ปุ่น สุดท้ายข้อตกลงขายกิจการก็บรรลุผล
ในเดือนพศจิกายน 2005 Seven & I Holding บริษัทแม่ของเซเว่นในญี่ปุ่น คือ เจ้าของคนใหม่ของ Seven Eleven

ทำไมบริษัทลูกอย่าง เซเว่นฯญี่ปุ่น จึงสามารถซื้อกิจการบริษัทแม่ได้ และเซเว่นฯภายใต้การบริหารของญี่ปุ่น จะเปลี่ยนแปลงขนาดไหน
ติดตามในภาคสอง ตอน “Grandiose Seven”
[ad#blend-336×280]

เปิดหน้า เปิดหลัง

พูดถึง Idea สุดเจ๋ง ประดิษฐ์ของดีๆ มีคนใช้งานทั่วโลก คงนี้ไม่พ้นคนญี่ปุ่น เวลาเข้าร้านสะดวกซื้อทีไร  ต้องนึกถึงไอเดียสุดยอดของคนญี่ปุ่นทุกที อ่านเพิ่มเติม เปิดหน้า เปิดหลัง

ร้านหน้าปากซอย

ติ๊ง-ต่อง … สวัสดีค่ะ รับอะไรดีค่ะ  เสียงกล่าวต้อนรับทันที ที่ประตูเปิด  หลายคนคงคุ้นหู กับเสียงออดประตู ที่มาพร้อมกับคำทักทาย อ่านเพิ่มเติม ร้านหน้าปากซอย