คลังเก็บป้ายกำกับ: Marketing

โปรโมชั่นให้ได้ผล

“ตอนจัดโปรโมชั่น ยอดก็มา แต่พอเลิกโปรโมชั่น ยอดขายก็ตก
หลายคนประสบปัญหานี้ใช่มั๊ย
.
นี่เลย เรามีทางออกมานำเสนอ”
(ทำเสียงแบบ TV Direct ด้วยนะ 555)

การทำโปรโมชั่นเป็นหนึ่งใน Marketing Mix ที่ทำง่ายสุด
พอทำง่าย คนเลยทำบ่อย และเลิกทำบ่อย
คือ อยากทำก็ทำ อยากเลิกก็เลิก จึงทำให้โปรโมชั่นไม่ส่งผลต่อแบรนด์ในระยะยาว

ถ้าเราดูจุดประสงค์ลึกๆของโปรโมชั่น มันคือ การทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์, รู้จักสินค้า จะใหม่หรือเก่าก็ตาม, สร้างภาพลักษณ์
และเมื่อรู้จักแล้ว ก็ต้องให้ลูกค้าได้ลองใช้ลองชิม

การทำโปรโมชั่นก็เพื่อให้ได้ ‘ลูกค้าใหม่’ (ลูกค้าที่ไม่เคยซื้อยี่ห้อเราเลย หรืออาจเป็นลูกค้าที่เคยซื้อยี่ห้อของเรา แต่ยังไม่เคยลองสินค้าตัวนี้)
ย้ำ!!! ลูกค้าใหม่

แต่ลูกค้าใหม่จะกลายเป็น ‘ลูกค้าประจำ’ นั่นคือสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบก่อนทำโปรโมชั่น

การทำโปรโมชั่นให้สำเร็จต้องทำให้ลูกค้า ‘สะดุดตา’ และ ‘ติดใจ’
‘สะดุดตา’ ทำได้ง่ายมาก เช่น ลดราคา แจกสินค้าตัวอย่าง ราคาพิเศษสำหรับสมาชิกใหม่ ซื้อครบ10ชิ้นได้ของแถม เป็นต้น

ส่วน ‘ติดใจ’ ทำยาก แต่ผมมีความลับสวรรค์มาเฉลย
วิธีที่แรก คือ ใช้เสน่ห์ที่เจ๋งกว่าคู่แข่ง ซึ่งเสน่ห์ก็มีหลายมุมนะ อาทิ เสน่ห์ที่คุณภาพสินค้า ถ้าเป็นอาหารก็อร่อยกว่ายี่ห้อที่มีในตลาด ถ้าเป็นเสื้อผ้าก็ใส่สบายดีไซน์สวย ถ้าเป็นหมอนก็นอนหลับไม่เมื่อยคอ
หรือจะใช้เสน่ห์แพคเกจก็ได้ สินค้าญี่ปุ่นได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะเขาใส่ใจรายละเอียด แพคเกจที่ดูจะทำให้ลูกค้าสะดวกใช้งานง่าย
อย่างนิชชินคัพ ออกแบบใหม่ ลดใช้พลาสติก(เวลาปิดฝาเมื่อเติมน้ำ)แล้วปรับที่เปิดเป็น 2 จุด ก็ทำให้สะดวก บวกกับความน่ารักที่เพิ่มขึ้น แถมยังลดการใช้พลาสติกกว่า 33 ตันต่อปี

หรือ เสน่ห์ที่การบริการ ลองลับตานึกถึงร้านโปรดที่เราอยากไป ในนั้นนอกจากสินค้าดี พนักงานบริการจะเหนือกว่ายี่ห้ออื่นแน่นอน
บางธุรกิจก็อาจใช่เสน่ห์ร้าน มาเป็นจุดขาย บรรดาคาเฟ์ บูติกโฮเทล นี่ชัดเจนเลย บรรยากาศดีๆคนก็อยากมา Relax

แต่ถ้าไม่มีเสน่ห์ที่ดีไปกว่าคู่แข่งก็วิธีที่สองครับ นั่นคือ ใช้ความเคยชิน เพราะเมื่อเราเจอซ้ำๆสมองจะทำการปรับตัว
ทฤษฎีนิสัย 21 วัน(21-Day Habit Theory) ของ Dr.Maltz ก็อธิบายเรื่องนี้แหละ

ถ้าจะเอาเหตุการณ์ใกล้ตัวก็คือ ตัวเลขผู้ติดโควิด ตอนที่ระลอก 3 ระบาด ตัวเลขพุ่งวันละเกินกว่า 1,000 ราย หลายคนจิตตก แต่ตอนนี้ “อ๋อ วันนี้ติด 2 พันรายเหรอ” ก็ยังรู้สึกชิลๆ
สวมแมสก์ออกไปหากาแฟกินได้

นี่คือพลังของความเคยชิน

การทำให้ลูกค้าเคยชินคือใช้ราคานี่แหละ ให้ลูกค้าหยิบง่ายโดยไม่ต้องคิดเยอะ และเมื่อใช้ไปสักพัก เริ่มชิน ก็ค่อยขยับราคา
แต่คำว่า สักพัก นี้ยากนะ เพราะธุรกิจแต่ละประเภทต้องใช้เวลาไม่เหมือนกัน อาจนานถึงปี

ในอดีตวิธีนี้ได้ผลดีมาก ลดราคาให้ลูกค้าใช้จนชิน แล้วค่อยๆขยับราคาขึ้นทีละนิดไม่ให้ลูกค้ารู้ตัว

แต่!!!!ลูกค้าสมัยนี้ มี Smartphone มีข้อมูล และเปลี่ยนใจง่ายแค่ปลายนิ้ว การใช้ความเคยชินด้วยการลดราคา จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ
เพราะแค่ขยับราคาขึ้นไม่กี่บาท ก็มีคู่แข่งรายใหม่เข้าตลาดแล้ว

ดังนั้น การโปรโมชั่นให้ได้ผล ต้องใช้เสน่ห์ (หามาให้ได้สักหนึ่งเรื่อง) ส่วนความเคยชินนั้นให้เป็นตัวเสริม

Credit ภาพ : Pexels

ทำไมไม่ฉีด(วัคซีน)

2-3 วันมานี้ การฉีดวัคซีนโควิดกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมาก
ถ้าตัดประเด็นเรื่องดราม่า ก็พอจะเห็นว่า คนไทยยังตื่นตัวหรือจะไปฉีดวัคซีนน้อยกว่าที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้
ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ สถานการณ์การระบาดคงคลี่คลายช้า การใช้ชีวิต เศรษฐกิจก็ฟื้นช้าตามไปด้วย
แม้ล่าสุดมีแพลมๆมาว่า ให้ walk in เดินมาฉีดได้ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะฉีดวัคซีนได้เยอะในทันที

จะบอกว่าผิดคาดก็ไม่เชิงครับ
ด้วยที่ว่าเป็นวัคซีนใหม่ ทั่วโลกเริ่มฉีดกันไปได้ไม่กี่เดือน
ในต่างประเทศ อย่างอเมริกาเองที่เห็นในข่าวว่า ใครอยากจะฉีดก็ฉีดได้เลย
ก่อนหน้านั้นมีการสำรวจพบว่า กว่า 47% ขอรอดูก่อน เรียกว่า ยังไม่เชื่อมั่นว่างั้นเถอะ
แต่ Biden ประธานาธิบดีคนใหม่ ตั้งเป้าว่าต้องฉีดให้ได้ครอบคลุมประชากร 70% ก่อนถึงวันชาติอเมริกา 4 กค. นี้

จึงต้องมีแคมเปญรณรงค์ให้คนมาฉีด
ใน Twitter จึงมี Hashtag #WeCanDoThis
ส่วนภาคเอกชนเองก็ร่วมแรงแข็งขัน
ทั้ง Uber และ Lyft ให้บริการรับส่งฟรี พาคนไปฉีดวัคซีน
McDonald’s ก็ทำสื่อให้ข้อมูลบนแก้วกาแฟ
บริษัท Resurgence Brewing ในชิคาโก้ ก็แจกเบียร์ฟรีให้คนที่ไปฉีด
เรียกว่า เอาของมาล่อทุกอย่างเท่าที่จะทำได้

ในบ้านเราเมื่อถึงวันที่ 1 มิย ที่วัคซีนล็อตใหญ่พร้อมฉีด บรรยากาศก็น่าจะมีส่วนให้คนอยากไปฉีดมากขึ้น
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ผมมีข้อมูลมาให้ดูว่า ถ้าพูดเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด ตอนนี้คนไทยสงสัย อยากรู้ หรือกังวลเรื่องอะไรบ้าง

ผมใช้ Googletrends สำรวจย้อนหลังไป 7 วัน พบว่ามีเรื่องเด่นๆ 4 เรื่อง ตามนี้ครับ
เรื่องแรกคือ จุดฉีดวัคซีน มีทั้งถามว่า กทม ฉีดที่ไหนได้บ้าง และสนใจจุดฉีดที่เซ็นทรัลลาดพร้าว มากที่สุด
เรื่องที่สองคือ ลงทะเบียนฉีดวัคซีน สำหรับคนที่มีประกันสังคม
เรื่องที่สามคือ วัคซีนของ Moderna อยากรู้ว่าจะเข้าไทยเมื่อไร นี่แปลว่าหลายคนยังไม่เชื่อในยี่ห้อที่รัฐจัดเตรียมให้ตอนนี้
เรื่องที่สี่คือ การเตรียมตัวก่อนฉีด และหลังฉีด โดยเฉพาะหลังฉีดวัคซีนแล้วห้ามกินอะไรบ้าง แหม!ห่วงเรื่องกินกันจังเลยนะ

เรื่องเหล่านี้ถ้าผู้เกี่ยวข้อง นำไปสื่อสาร ตอบให้ตรงประเด็น ก็จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้น เราจะได้ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากพอที่ธุรกิจจะได้กลับมาดำเนินได้ปกติ

ที่มา:
https://www.theguardian.com/us-news/2021/may/10/buffalo-free-beer-program-overcome-vaccine-hesitancy
https://www.theguardian.com/business/2021/may/11/mcdonalds-promote-vaccine-information
https://www.usatoday.com/story/money/food/2021/05/11/mcdonalds-white-house-covid-vaccine-awareness-we-can-do-this/5030854001/

เอาอะไรมาสร้างความแตกต่าง

“น้องๆสั่งอาหารด้วยครับ”
“พี่เอาข้าวกะเพราหมูตุ๋น สปาร์เก็ตตี้ผัดขี้เหมา แฮมชีสทรงเครื่อง”
“เดี๋ยวๆๆอย่าเพิ่งไป ยังสั่งไม่หมด แล้วก็เอาแกงเลียงด้วยหนึ่งที่”
“อ้าว ไม่จดรึ จะจำได้มั๊ยเนี่ย”
เจอผมทักแบบนี้ เด็กเสิร์ฟยื่นกระดาษกับดินสอแล้วบอกว่า “พี่จดเลยคะ” พร้อมทำท่าจะรีบไปบริการโต๊ะอื่น
ผมจึงเปลี่ยน “งั้น ทวนสิ ว่าพี่สั่งอะไรไปบ้าง”
พนักงานคนนี้จำได้หมดจำได้แม่น แต่ฟังจากสำเนียง ก็รู้ทันทีว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
แรงงานกลุ่มนี้จะมีทักษะการจำดีมากครับ เพื่อชดเชยกับทักษะการเขียนที่พวกเขาไม่สามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ
จดไม่ได้ ก็ใช้วิธีจำแทน

หากเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวริมถนน ผมก็ไม่แปลกใจอะไรเพราะเจอบ่อยๆ แต่นี่เป็นร้านอาหารใน Terminal 21 ห้างใหญ่ใจกลางกรุงเทพ
ไม่น่าเชื่อว่า แรงงานกลุ่มนี้ จะอัพเกรดได้เร็วขนาดนี้
หรือว่า แรงงานไทย หายากจริงๆ

แรงงาน จึงเป็นตัวกำหนดหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจแฟรนไชส์
เพราะแฟรนไชส์ มีการใช้พนักงาน หลายระดับแตกต่างกัน
…แตกต่างทั้งในด้านจำนวน
…แตกต่างทั้งในด้านทักษะ

จำนวน จะขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจ หากเป็นร้านขนาดใหญ่ ก็ต้องพึ่งทีมงานร่วมสิบคน และหากเปิดทั้งวันทั้งคืน ก็ต้องมีทีมงานแยกตามผลัด
แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เจ้าของตังค์ลงมือทำเอง ก็อาจเพียงหาลูกมือมาช่วย อีกสักคนสองคน
นั่นแปลว่า จะมีพนักงานตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

ทักษะ จะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ
…บางธุรกิจขายสินค้าที่จับต้องได้
…บางธุรกิจขายสินค้าที่มองไม่เห็น

สินค้าที่จับต้องได้ ก็มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน
การอบรมพนักงานให้ชงเอสเปรสโซ่ได้อร่อย กลมกล่อม ย่อมใช้เวลานานกว่าการสอนอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ
การลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวให้นุ่มพอดี ก็ยากกว่าการขายน้ำจากตู้กด
ส่วนการทำเครป ต้องฝึกนานกว่า การปิ้งลูกชิ้น แน่นอน

แต่เมื่อร้านค้ามีเยอะ การแข่งขันสูงขึ้น แต่ละร้านก็พยายามยกระดับ จาก ‘สินค้าที่จับต้องได้’ ให้เป็น ‘สินค้าที่จับต้องได้แตกต่างจากร้านอื่น’ นั่นแปลว่าต้องเติมความแตกต่างลงไป
…เติมลงในสินค้า เป็นหน้าที่ของเจ้าของแฟรนไชส์ ที่จะต้องหาสินค้าใหม่ โดนใจตลาด
…เติมผ่านพนักงาน ตรงนี้เป็นงานของผู้ซื้อแฟรนไชส์ครับ บริการดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ในขณะที่สินค้าที่มองไม่เห็น จะยากไปอีกขั้น
การหาพนักงาน มาทำหน้าที่สอนหนังสือเด็กๆ ก็ต้องหาคนที่รักเด็ก และมีความอดทนสูง
คนสอนยิมนาสติก ก็ต้องมีพื้นฐานเฉพาะด้าน
คนสอนงานศิลปะ ก็ต้องมีความสามารถเฉพาะตัว
คนนวดน้ำมันในสปา ก็ต้องมีลีลาเฉพาะ
เออ! ลีลา นี่ผมหมายถึง ทักษะการสื่อสารกับลูกค้าครับ อย่าเพิ่งคิดเป็นอย่างอื่น
ต้องมีทักษะสื่อสาร ทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย ไม่กังวลในขณะใช้บริการ และที่สำคัญต้องทำให้ลูกค้าติดใจ อยากกลับมาใช้บริการอีก
.
ภาพจาก Pexels.com
.
clookclick.com
มองเทรนด์เห็นโอกาส
clookclick #มองเทรนด์เห็นโอกาส #service #servicedesign #retail #signature

ทำแบรนด์ให้ตะมุตะมิ

ระยะหลังๆมานี้มีคนบ่นเรื่องลูกค้ากันเยอะ
“ลูกค้าเรื่องเยอะ” “ลูกค้าเปลี่ยนใจไว เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา”
“ลูกค้าไม่ค่อยซื้อ เดินดูอย่างเดียว” “ทัก Inbox มา พอบอกราคาก็เงียบไปเลย อ้อ!แล้วถ้าให้ตูประกาศราคาในหน้าแรก ตูก็ไม่ต้องมีงานทำเลยสิ”
ลงท้ายที่ว่า “ลูกค้าไม่ค่อยภักดีกับแบรนด์”
อ่านเพิ่มเติม ทำแบรนด์ให้ตะมุตะมิ

อยู่ใกล้ก็หวั่นไหวกันบ้าง

เคยสังเกตไหมครับว่าเวลาไปเดินชอปปิ้ง บ่อยครั้งที่‘ผิดแผน’
…ผิดแผนเพราะตั้งใจจะซื้อ แต่ไม่ได้ของกลับบ้าน
…ผิดแผนเพราะตั้งใจจะซื้อนิดเดียว แต่ได้ของมากกว่าที่คิด
…ผิดแผนเพราะตั้งใจไปเดินเล่นไม่คิดจะซื้อ แต่มีของติดมือกลับบ้านด้วย

ถ้าผิดแผนแบบแรกก็คงดีเพราะไม่เสียเงิน แต่ส่วนใหญ่มักเป็นแบบสองกับแบบสามมากกว่า ถ้านึกไม่ออกว่าเคยทำผิดแผนบ่อยแค่ไหน ให้ลองนึกย้อนไปถึงการเดินซื้อของใช้เข้าบ้านในชีวิตประจำวันครั้งล่าสุด ในขณะที่เข็นรถเข็นเดินเลือกสินค้าในห้างติดแอร์ แม้จะมีรายการสินค้าอยู่ในใจ แต่มักมีการ‘เปลี่ยนใจ’ เป็นประจำ อ่านเพิ่มเติม อยู่ใกล้ก็หวั่นไหวกันบ้าง